เกร็ดความรู้ประวัติวันคริสต์มาส |
|||
คริสต์มาส คือการฉลองการบังเกิดของพระเยซูที่เราเฉลิมฉลองกันในวันที่ 25 ธันวาคม คำว่า "คริสต์มาส" เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ Christmas ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า เพราะการร่วมมิสซาเป็นประเพณีสำคัญที่สุดที่ชาวคริสต์ถือปฏิบัติกันในวันคริสต์มาส คำว่า Christes Maesse พบครั้งแรกในเอกสารโบราณเป็นภาษาอังกฤษในปีค.ศ. 1038 และคำนี้ก็ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas ในภาษาไทย "คริสต์มาส" ก็มีความหมายเช่นกัน คำว่า มาส แปลว่า เดือน เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นเดือนที่เราระลึกถึงพระเยซูคริสตเจ้าเป็นพิเศษอีกความหมายหนึ่งของคำว่า มาส คือ ดวงจันทร์ ฉะนั้นจึงตีความหมายเป็นภาษาไทยได้อีกอย่างหนึ่งคือพระเยซูทรงเป็นความสว่างของโลก เหมือนดวงจันทร์เป็นความสว่างในตอนกลางคืน คำทักทายที่เราได้ฟังบ่อยๆ ในเทศกาลนี้คือ Merry X'mas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณแปลว่า สันติสุขและความสงบทางใจ เพราะฉะนั้นคำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรคนอื่น ขอให้เขาได้รับสันติสุขและ ความสงบทางใจ เนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาส |
|||
ทำไมจึงฉลองคริสต์มาสในวันที่ 25 ธันวาคม นักประวัติศาสตร์หาสาเหตุต่างๆ ว่าทำไมคริสตชนจึงเลือกเอาวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันฉลองคริสต์มาสตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา และก็ให้คำอธิบายต่างๆ กัน แต่คำอธิบายหนึ่งที่สมเหตุสมผลหรือมีน้ำหนักมากที่สุดคือ ในปี ค.ศ. 274 จักรพรรดิ AURELIAN ได้กำหนดให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยเทพผู้ทรงพลัง กล่าวตามความรู้ทางวิชาดาราศาสตร์สมัยนั้น เห็นว่า วันนั้นเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลที่สุดจากเส้นศูนย์สูตรของโลก และเริ่มหมุนไปทางด้านเหนือของท้องฟ้า วันใหม่เริ่มยาวขึ้นชาวโรมันฉลองวันนี้อย่างสง่า และถือเสมือนว่าเป็นวันฉลองของพระเจ้าจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะพระเจ้าจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมันรู้สึกอึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของดวงอาทิตย์ตามประเพณีของชาวโรมัน จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูแทนในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 330 เริ่มมีการฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและอย่างเปิดเผย เนื่องจากก่อนนั้นมีการเบียดเบียนคริสตชนอย่างรุนแรง ทำให้คริสตชนไม่มีโอกาสฉลองอะไรอย่างเปิดเผย อีกนัยหนึ่ง ชาวคริสต์ได้เห็นว่า ในพระคัมภีร์ ( มาลาคี 4:2 ) เรียกพระเจ้าว่า เป็นดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรม จึงเห็นว่ามีหลักฐานในพระคัมภีร์สนับสนุนให้ถือวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันเกิดของพระเยซู | |||
การทำถ้ำพระกุมาร ตามความในพระคัมภีร์ พระเยซูเกิดในรางหญ้า ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงไหน แต่เนื่องจากในแถบเบธเลเฮมมีถ้ำอยู่มากมาย ที่พวกดูแลฝูงแกะใช้เป็นที่พักของสัตว์ (รางหญ้า) และตัวเอง เป็นความคิดของชาวคริสต์ธรรมดาว่า รางหญ้าที่พระวรสารอ้างถึงนั้นคงอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งในเบธเลเฮม ประเพณีการทำถ้ำนั้นมาจากอิตาลี โดยนักบุญฟรังซิส อัสซีซี เป็นผู้เริ่ม โดยในวันคริสต์มาสปี ค.ศ. 1223 นักบุญฟรังซิสชวนให้ชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านที่ Greccio ที่ท่านอยู่ร่วมแสดงละคร มีการเตรียมถ้ำพระกุมารโดยใช้สัตว์จริงๆเช่น วัวและลา อยู่ในถ้ำด้วย ( การที่ใช้วัวและลาเพราะเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านใช้เป็นประจำ) จากนั้น ก็จุดเทียนมายืนรอบๆ ถ้ำที่ทำขึ้น ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าจนถึงสว่างและร่วมมิสซาด้วยกัน ตั้งแต่นั้นมาประเพณีทำถ้ำพระกุมารทั้งในวัดและในบ้านก็แพร่หลายไปทั่วทุกหนแห่ง | |||
ต้นคริสต์มาส ในสมัยโบราณต้นไม้คริสต์มาส หมายถึง ต้นไม้ในสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากินและทำบาปไม่เชื่อฟังพระเจ้า (ปฐก 3:1) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ชาวคริสต์แสดงละครที่หน้าวัด ถึงความหมายของ คริสต์มาสและเอาต้นไม้ต้นหนึ่งไว้ตรงกลางเพื่อประดับฉาก แสดงถึงบาปกำเนิดของอาดัมและเอวา ต้นไม้ที่ใช้ เป็นต้นสนเนื่องจากเป็นต้นไม้ที่หาง่ายที่สุดในประเทศเหล่านั้น การแสดงละครคริสต์มาสแบบนี้มีมาเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี จนถึงศตวรรษที่ 15 พระสังฆราชหลายแห่งได้ห้ามแสดงเนื่องจากการแสดงนั้นกลายเป็นการเล่นเหมือนลิเกล้อชาวบ้าน ผู้ปกครองบ้านเมืองและศาสนา ซึ่งไม่ตรงกับบรรยากาศของการฉลอง ชาวบ้านรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสดูละครสนุกๆ แบบนั้นอีก จึงไปสนุกกันที่บ้านของตน โดยเอาต้นไม้มาไว้ที่บ้านเพราะ ต้นไม้เป็นจุดเด่นในลานวัดที่เขาเคยร่วมสนุกสนานกัน หลังจากนั้นก็เริ่มมีการแขวนลูกแอปเปิ้ล และแขวนแผ่นขนมปัง เพื่อระลึกถึงศีลมหาสนิท ซึ่งก็มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นขนมและ ของขวัญอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ | |||
ซานตาคลอส เป็นจุดเด่นหรือสัญลักษณ์ที่เด็กและผู้คนนิยมมากที่สุดในเทศกาลคริสต์มาส แต่แท้ที่จริงแล้ว ซานตาคลอสแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้เลย ชื่อซานตาคลอส มาจากนักบุญนิโคลาส ซึ่งเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือ เป็นนักบุญองค์ อุปถัมภ์ของเด็กๆ นักบุญองค์นี้เป็นสังฆราชของ ไมรา (อยู่ในประเทศตุรกีปัจจุบัน) มีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษที่ 4 เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ ก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ คือฉลองนักบุญนิโคลาส ในวันที่ 6 ธันวาคม ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆและเอาของขวัญมาให้เด็กอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ ที่อพยพมาก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในประเพณีแบบนี้บ้างเพื่อรับของขวัญ ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปในอเมริกา โดยมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คือ ชื่อนักบุญนิโคลาสก็เปลี่ยนมาเป็นซานตาคลอส และแทนที่จะเป็นสังฆราชซึ่งเป็นนักบุญองค์นั้น ก็กลายเป็นชายแก่ที่อ้วน ใส่ชุดสีแดง อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือมีเลื่อนเป็นพาหนะ มีกวางเรนเดียร์ลากและจะมาเยี่ยมเด็กทุกคนในโลกนี้ในโอกาสคริสต์มาส โดยลงมาทางปล่องไฟของบ้าน เพื่อเอาของขวัญมาให้เด็กเหล่านั้น ตามความประพฤติของเขา ลักษณะภายนอกของซานตาคลอสที่ถูกสมมติขึ้นนี้ เหมือนกับจะลอกเลียนแบบมาจาก Thor ซึ่งเป็นเทพเจ้าในนิยายโบราณของเยอรมัน และลอกเลียนแบบนักบุญนิโคลาสที่นำของขวัญมาแจกเด็กๆ อันที่จริงซานตาคลอสเป็นรูปแบบที่น่ารัก เหมาะสำหรับเป็นนิยายให้เด็กๆ เชื่อ แต่อาจจะทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจให้ความสำคัญในตัวนิยายนี้แทนการ บังเกิดของพระเยซู ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของเทศกาลคริสต์มาสนี้ |
|||
ความสำคัญของวันคริสต์มาส จะเห็นได้ว่า วันคริสต์มาสเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เนื่องจากเป็นการระลึกถึงวันที่พระบุตรของพระเจ้ามาบังเกิดเป็นมนุษย์ พระองค์เป็นพระเจ้าที่จะอยู่กับเราตลอดไป เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เป็นพี่หัวปีที่นำมนุษย์ทั้งมวลไปสู่พระบิดาเจ้า พระองค์เป็นความสำเร็จบริบูรณ์ตามคำสัญญาของพระเจ้าที่จะดูแลป้องกันรักษาเรา ผู้เป็นประชากรของพระองค์ เราเป็นเหมือนลูกแกะที่หายไป แต่พระเยซูเป็นชุมพาบาลใจดีที่ตามหา เราจนพบและจะไม่มีอะไร ที่จะแยกเรากับพระองค์ได้อีกเลย | |||
โรงเรียนอนุบาลเชาวน์ดี Website - www.chaowdee.com |
|||